ประโยชน์ของการนวด

Last updated: 30 มิ.ย. 2566  |  449 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประโยชน์ของการนวด

ประโยชน์ของการนวด

อาการปวดเมื่อยตามร่างกายนั้น น้อยคนนักที่จะไม่เคยเป็น แต่เอาเข้าจริง ค่อนข้างมั่นใจเลยว่าทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะต้องเคยมีอาการปวดเมื่อยบ้างไม่มากกน้อย! เพียงแต่เป็นอาการปวดแบบแปบๆ หาย หรือปวดต่อเนื่องเรื้อรัง และวิธีที่คนส่วนใหญ่จะใช้บำบัดแก้อาการปวดเมื่อยก็คือ “การนวด” สังเกตง่าย ๆ ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่มีอาการปวด เมื่อย รู้สึกตัวหนัก ๆ กล้ามเนื้อเกร็งตึง เคลื่อนไหวได้ไม่ดีเท่าแต่ก่อน หรือมีอาการแบบ “ลุกก็โอยนั่งก็โอย” เมื่อนั้น ร่างกายคงต้องการการผ่อนคลายเสียแล้ว

การนวดคืออะไร?

การนวด จึงเป็นการบำบัดและทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ซึ่งถือเป็นวิธีการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาช้านาน ซึ่งการนวดนั้นจะใช้ทักษะทางร่างกาย อย่าง นวด บีบ คลึง จับ รีดเส้น กดจุด เหยียบ ยัน ดัด หรือกระตุ้นด้วยการสั่น และอาจมีอุปกรณ์เสริมในการนวดด้วย เช่น ลูกประคบ น้ำมันอโรมา ยาหม่อง สมุนไพร หรือเกลือสครับ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงระบบการทำงานของร่างกายในยามที่เรารู้ว่าร่างกายทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร

นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการที่แสดงออกทางร่างกายแล้ว การนวดยังช่วยบำบัดอาการทางจิตใจได้ มีสารพัดงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการนวดช่วยบรรเทาความเครียดและความเหนื่อยล้าด้านจิตใจ ธุรกิจร้านนวดจึงได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

แต่ด้วยการนวดนั้นมีความสัมพันธ์กับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์นั้น พวกกล้ามเนื้อ ต่อม เส้นเอ็นต่าง ๆ เชื่อมโยงหากันหมด นั่นหมายความว่าถ้าเกิด “ความผิดพลาด” ขึ้น จนกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหาย ก็มีโอกาสสูงมากที่จะต้องนอนเป็นผัก ป่วยเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องรู้ถึงความเสี่ยง และข้อควรระวังก่อนและหลังการนวด รวมถึงนวดแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยและอาการข้างเคียง คือ ควรต้องนวดกับแพทย์หัตถเวชเฉพาะทาง หรือสถาบันที่มีใบประกอบรับรอง

การนวดดีอย่างไร?

การนวดถือเป็นการรักษาทางการแพทย์รูปแบบหนึ่ง จึงมีประโยชน์ในเรื่องของสุขภาพร่างกาย คือ

·       ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดหลัง ปวดขา เนื่องมาจากการใช้งานหนักหรือผิดท่า

·       ช่วยคลายอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ สลายพังผืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึด ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก

·       ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ในส่วนที่กล้ามเนื้อเกร็ง หรือเส้นเอ็นยึด เมื่อนวดแล้วจะคลายตัว จะทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก นำเอาออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายได้ทั่วถึง

·       ปรับสมดุลร่างกาย การนวดช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

·       รักษา/ป้องกันโรค เป็นการนวดแบบที่มีลักษณะแก้อาการ มีโรคบางโรคที่ต้องอาศัยการนวดอย่างเช่น ไมเกรน หรืออาการปวดศีรษะเรื้อรัง มีการนวดกดจุดบริเวณศีรษะได้ รวมถึงโรคเครียด นอนไม่หลับ หรือการนวดเพื่อฟื้นฟูโรคอัมพฤกษ์ โรคข้อเสื่อม และบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง

·       คลายเครียด เนื่องจากการนวดจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย ยิ่งโดยเฉพาะการนวดน้ำมันหรือนวดอโรมา ที่สกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร กลิ่นหอมมีสรรพคุณในการบำบัดความเครียด สุขภาพจิตดี ผ่อนคลายสบายอารมณ์ มีการศึกษาที่พบว่า การนวดช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง มีผลให้อาการซึมเศร้าลดลง

·       เพื่อความสวยงาม เพราะการนวดทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ผิวพรรณจึงเปล่งปลั่ง หรือการนวดแบบสปาที่มีการขัดตัวด้วยสมุนไพร และการนวดอโรมา ความร้อนของน้ำมันที่เกิดจากการนวดจะซึมซาบเข้าสู่ผิวหนัง

การนวดมีความเสี่ยงและข้อควรระวัง

ขึ้นชื่อว่าการรักษา ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นการบำบัดอาการด้วยวิธีธรรมชาติ แทบไม่พึ่งพาสารเคมี แต่อย่างที่บอกตั้งแต่ต้น การนวดคือการเข้าไปยุ่งกับระบบการทำงานของร่างกายที่ทำงานแบบเชื่อมโยงกัน ถ้าเกิดความผิดพลาด ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นความผิดปกติของร่างกายก็มีอยู่สูง

ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ประโยชน์จากการนวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเป็นทุนเดิม การนวดที่ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกหลัก นำมาซึ่งอาการข้างเคียงและผลกระทบต่าง ๆ และควรนวดกับผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะการนวดที่ไม่ถูกต้องเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ข้อควรระวังสำหรับการนวดที่ต้องระวัง

·       ห้ามนวดหลังมื้ออาหารทันที หรือยังรู้สึกอิ่มอาหารอยู่ ควรเว้นระยะ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

·       สตรีมีครรภ์ไม่ควรนวด หากต้องการนวดควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

·       ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

·       ผู้ที่มีบาดแผล บาดเจ็บ อักเสบ ร้อน บวม แดง หรือมีการผ่าตัดแล้วยังไม่หายดี

·       ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม

·       ผู้ที่ป่วยภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน หรือป่วยเป็นโรคเลือดต่าง ๆ

·       ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนขั้นรุนแรง กระดูกบาง

·       ผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือมีเนื้องอกในร่างกาย ต้องปรึกษาแพทย์

·       ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกโรค ห้ามนวด

·       หากมีอาการเจ็บปวดผิดปกติขณะนวด ให้แจ้งผู้นวด หรืออาการปวดช้ำไม่หายภายใน 2-3 วันหลังจากนวด รีบพบแพทย์

·       สตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ห้ามนวด

·       ผู้ที่มีอาการไข้ อ่อนเพลียมาก ๆ ห้ามนวด

·       หลังนวดทันที ควรงดน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง

·       ไม่ควรอาบน้ำหลังนวดทันทีควรให้ร่างการปรับสภาพก่อน

·       พักผ่อนให้มากหลังการนวด เพื่อให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นได้พักหลังจากนวดเสร็จ

 

 

ข้อมูลจาก: https://www.sanook.com/health/25835/

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้